วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความคิดเห็นเรื่องกระบวนทัศน์ทางการศึกษาควรจะเปลี่ยนไปอย่างไร จากหนังสือ “สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก 2556”


ความคิดเห็นเรื่องกระบวนทัศน์ทางการศึกษาควรจะเปลี่ยนไปอย่างไร

จากหนังสือ “สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก 2556”

โดย  นายศรสกล  กัลยา

นิสิตปริญญาโท สาขาวิจัยและสถิติทางการศึกษา


          สถานการณ์การศึกษาของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกที่เราเคยคิดว่ากว้างแต่ปัจจุบันแคบลงแค่ลัดนิ้วมือเดียว ความรู้ทุกอย่างในโลกนี้หาได้จากห้องสมุดออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางไปที่ห้องสมุดก็สามารถอ่านหนังสือหาความรู้จากห้องสมุดออนไลน์ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ททำให้การศึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันสมัย ทันเหตุการณ์โลกปัจจุบัน



          ในระบบการศึกษาของประเทศที่เจริญแล้วได้มีการจัดระบบการศึกษาตั้งแต่ ขั้นก่อนประถมศึกษาจนถึงภาคบังคับ ตามบริบทของประเทศของตน ส่วนการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนก็ได้มีการจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน ที่จัดระบบการศึกษาที่มีรูปแบบเหมือนกันกับประเทศ ที่เจริญทางด้านการศึกษาได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลี

          หากจะกล่าวถึงการศึกษาพอจะให้ความหมายว่า การศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (มาตรา 4 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 ) จากความหมายดังกล่าวจะเห็นว่าการศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความเจริญงอกงามและส่งผลต่อระบบการศึกษาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
   

          จากข้อมูลทางด้านสถิติของหนังสือ “สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก 2556” ทำให้เราเห็นสภาพปัญหาทางด้านการศึกษาที่กำลังถดถอย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนักถึงผลที่เกิด เร่งสร้างปรากฏการณ์ทางการศึกษาโดยการเปลี่ยนทัศนคติใหม่ต่อการเรียนรู้ จากครูสู่นักเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้นักเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้โดยใช้ สื่อต่างๆ ภาพเคลื่อนไหว การทำโครงงาน การเรียนโดยวิธี Active learning การเรียนแบบสืบค้น ฯลฯ


          สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้เลย หากผู้นำทางการศึกษาไม่ตระหนักและเล็งเห็นผลที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้ โดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ตัวเองใหม่ ให้มีความใหม่และเก่าปะปนกันไปอย่างสอดคล้องประสานกลมกลืนกันไป เหมือนเกลียวคลื่นลูกใหม่และลูกเก่าที่คอยเกื้อหนุนประสานกัน ร่วมกันคนละไม้คนละมือ การศึกษาและอนาคตของชาติ ย่อมเจริญขึ้นแน่นอน ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง  กัลยาณะการี กัลยาณัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง” บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว  (พุทฺธพจน์ สํ.ส ๑๕/๓๓๓.) 
   ถ้าการปลูกพืชคือกระบวนการเรียนรู้ใหม่หลากหลายแล้ว ผลคือผู้ที่ได้รับความรู้จากเราได้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบรูณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ไปพร้อมๆกัน ทำให้ประเทศของเราอุดมไปด้วยสังคมแห่งปัญญา มีแรงงานก็เป็นแรงงานคุณภาพมีการศึกษา วัยกลางคนก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ วัยชราก็เป็นวัยของผู้ทรงภูมิปัญญาแห่งนักปราชญ์ที่มากไปด้วยประสบการณ์ พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ประเพณีและวัฒนธรรมทางสังคม จากรุ่นสู่รุ่น ที่ดีงามต่อไป



วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

      สายลมที่พัดมาจากชายทุ่งได้หอบเอา ความสดชื่น  ความฝัน  การเริ่มต้นใหม่ของชีวิต ของใครต่อใครอีกหลายคน  ที่กำลังจะมุ่งสู่ทางข้างหน้าด้วยใจอันมุ่งมั่น 

      ในยามที่หยดน้ำค้างกำลังจะสลายไปในเปลวแดด ของเดือนแห่งการเข้าพรรษา ก่อนหวยออกสองวัน อีกไม่กี่นาทีจะมีอีกหนึ่งชีวิตได้เริ่มต้นใหม่ และแล้วเสียงแห่งการกำเนิดก็เกิดขึ้นพร้อมกับฝามือเบาที่สะกิดบนแผ่นหลัง หลังจากที่อยู่ในภาวะจำศีลตลอดเก้าเดือน คอยย้ำเตือนนามว่า ศรสกล กัลยา แปลว่า ผู้ไปได้ไกล (ถ้ามีค่ารถ)

     วันวานผันผ่านมาพร้อมกับอายุได้เกณฑ์เข้าประถม ชีวิตช่วงนี้มันส์อย่าบอกใครเชียวเพราะมีแต่กินกับเล่นแถมมีรายได้จากงานพิเศษตอนเย็น  ลุงแก่เรียกใช้งานเรียงขนมขึ้นรถตู้ ได้เงินอย่างงามวันละ 5 บาท โอ้วพระเจ้ายอด มันจอร์จมาก มันยอดเยี่ยมมาก มันมีความพอใจ อย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลย มีค่าขนมอีกแล้ว ว้าว วันนี้ไม่ต้องขอเงินแม่อีกแล้ว

     ชีวิตมัธยมต้องเรียนไปพร้อมกับหารายได้พิเศษสมัยก่อนต้องเสียค่าเทอม แต่เราโชคดีที่หาเงินเป็น ส่วนเพื่อนที่หาเงินเรียนไม่ได้ก็ต้องไปทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่กันต่อไป  จนถึงมัธยมปลายชีวิตต้องทำงานและเรียนตลอดเวลา ระยะทางที่ผ่านมาทำให้เราถูกหล่อหลอมให้เป็นคนที่ต้องตัดสินใจด้วยตนเอง อยู่เสมอ ไม่ว่าจะีดีหรือชั่วก็ตาม  เพราะทำให้เรากล้าที่จะทำ สิ่งที่เราส่วนมากจะมากจากความตั้งใจ เมื่อตั้งใจทำในสิ่งที่ชอบแล้ว รู้สึกว่ามันมีความสุขดี

    เรียนและงานก็ยังคงวนเวียนกับข้าพเจ้าอยู่เสมอ ใช้เวลาเรียนปริญญาตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จบปี 2543  ครบ 7 ปี บริบูรณ์ คุ้มค่าจริงๆ  จากสถาบันราชภัฏจันเกษม และที่ขาดไม่ได้เลย คนที่เป็นกำลังใจให้กับข้าพเจ้ามาตลอด คือ มารดา และ บิดา ของข้าพเจ้า ขอขอบพระคุณท่านมาก จนหาที่สุดมิได้แล้ว

   ในส่วนของการเรียนปริญญาโทไม่เคยอยู่ในความคิดว่าจะเรียนเลยยยยย  แต่ชีวิตก็หักเหให้เริ่มที่ แรก ม.นเรศวร ที่สอง ม.ราชภัฏนครสวรรค์ และล่าสุด คือ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ตั้งใจแล้วว่าจะจบ 2 ปีให้ได้ แต่ละที่ที่ผ่าน มีประสบการณ์ต่างๆ มากมายที่เราสามารถเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนความสุขและพอใจที่ได้สัมผัสในการเรียน ปริญญาโท ยังอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการเรียนคือ

     เป้าหมาย คือ ความสำเร็จที่เราตั้งไว้ว่า และ จะทำทุกอย่างด้วยความชอบธรรม เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายนั้น เพราะว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ ความสุข ถ้าเราทำอะไรก็ตามที่อยู่บนพื้นฐานของคำว่า ความสุขแล้วไซร์ สิ่งที่ตามมาย่อมส่งผลต่อเราทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

     จากคำบาลีที่ว่า  "ฉันทะ มูละกา"  หมายถึง ความพอใจเป็นรากฐานของชีวิต ถ้าเราปราศจาก ฉันทะ การเป็นอยู่ของเราก็ยากที่จะหาสุขในชีวิตได้
                                                                         
                                  ศรสกล  กัลยา
นิสิตปริญญาโท เอกวิจัยและสถิติทางการศึกษา
รหัส 556199130069